ข่าวสารประชาสัมพันธ์

หัวข้อข่าว : พระราชดำริเรื่อง "ดิน"
วันที่ : 3 ธ.ค. 2561
รายละเอียด :

พระราชดำริเรื่อง "ดิน"

"มีความเดือดร้อนอย่างยิ่งว่าประชาชนในเมืองไทยจะไร้ที่ดิน และถ้าไร้ที่ดินแล้วก็จะทำงานเป็นทาสเขา ซึ่งเราไม่ปรารถนาที่จะให้ประชาชนเป็นทาสคนอื่น แต่ถ้าเราสามารถที่จะขจัดปัญหานี้ โดยเอาที่ดินจำแนกจัดสรรอย่างยุติธรรม อย่างมีการจัดตั้งจะเรียกว่านิคม หรือจะเรียกว่าหมู่หรือกลุ่ม หรือสหกรณ์ก็ตาม ก็จะทำให้คนที่มีชีวิตแร้นแค้นสามารถที่จะพัฒนาตัวเองขึ้นมาได้" พระราชดำรัสไว้ ณ สำนักงาน กปร. ในปี พ.ศ. 2531

 

          จุดเริ่มต้นของแนวพระราชดำริเรื่อง "ดิน" เกิดมาจากที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงทอดพระเนตรเห็นความเดือดร้อนของประชาชนที่ไม่มีที่ดินทำกินทางการเกษตร ดังมีพระราชดำรัสไว้ ณ สำนักงาน กปร. ในปี พ.ศ. 2531 ว่า


"มีความเดือดร้อนอย่างยิ่งว่าประชาชนในเมืองไทยจะไร้ที่ดิน และถ้าไร้ที่ดินแล้วก็จะทำงานเป็นทาสเขา ซึ่งเราไม่ปรารถนาที่จะให้ประชาชนเป็นทาสคนอื่น แต่ถ้าเราสามารถที่จะขจัดปัญหานี้ โดยเอาที่ดินจำแนกจัดสรรอย่างยุติธรรม อย่างมีการจัดตั้งจะเรียกว่านิคม หรือจะเรียกว่าหมู่หรือกลุ่ม หรือสหกรณ์ก็ตาม ก็จะทำให้คนที่มีชีวิตแร้นแค้นสามารถที่จะพัฒนาตัวเองขึ้นมาได้"


          จากจุดเริ่มต้นของพระเมตตา ที่จะเห็นประชาชนมีที่ดินทำกิน มีผลผลิตเป็นอาหารเพียงพอต่อการดำรงชีพ ก่อให้เกิดโครงการพระราชดำริต่างๆ เพื่อแก้ไขปัญหาในมิติ "ดิน" ดังนี้

 

          1. การแก้ปัญหาขาดแคลนที่ดินทำกินของเกษตรกร


          ปัญหาการขาดแคลนที่ดินทำกินของเกษตรกร เป็นปัญหาสำคัญยิ่งในช่วง 4 ทศวรรษที่ผ่านมา งานจัดและพัฒนาที่ดินเป็นงานแรกๆ ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงให้ความสำคัญ ทรงเริ่มโครงการพัฒนาที่ดินหุบกะพง ตามพระราชประสงค์ เมื่อปี พ.ศ 2511 โดยมุ่งแก้ไขปัญหาการไม่มีที่ดินทำกินของเกษตรกรเป็นสำคัญ

 

          พระราชดำริแนวทางหนึ่งในการแก้ไขปัญหาเรื่องดิน คือ ทรงนำเอาวิธีการปฏิรูปที่ดินมาใช้ในการจัดและพัฒนาที่ดินที่เป็นป่าเสื่อมโทรม รกร้าง ว่างเปล่า นำมาจัดสรรให้เกษตรกรที่ไร้ที่ทำกินได้ประกอบอาชีพในรูปของหมู่บ้านสหกรณ์ และโครงการจัดและพัฒนาที่ดินในรูปแบบอื่นๆ ทั้งนี้โดยให้สิทธิทำกินชั่วลูกชั่วหลาน แต่ไม่ให้กรรมสิทธิ์ในการถือครอง พร้อมกับจัดบริการพื้นฐานให้ตามความเหมาะสม นอกจากนี้ยังมีการจัดพื้นที่ทำกินให้ราษฎรชาวไทยภูเขา สามารถดำรงชีพอยู่ได้เป็นหลักแหล่ง โดยไม่ต้องทำลายป่าอีกต่อไป


          ในการจัดพื้นที่ต่าง ๆ ดังที่กล่าวมานี้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมีหลักการว่าต้องมีการวางแผนการจัดการให้ดีเสียตั้งแต่ต้น โดยใช้แผนที่และภาพถ่ายทางอากาศช่วย ไม่ควรทำแผนผังที่ทำกินเป็นลักษณะตารางสี่เหลี่ยมโดยไม่คำนึงถึงสภาพภูมิประเทศ แต่ควรจัดสรรพื้นที่ทำกินแนวพื้นที่รับน้ำจากโครงการชลประทาน นั่นคือ จะต้องดำเนินโครงการเกี่ยวกับการพัฒนาที่ดินเพื่อการเกษตรควบคู่ไปกับการพัฒนาแหล่งน้ำ เช่น โครงการนิคมสหกรณ์หุบกะพงในพระบรมราชูปถัมภ์ อ.ชะอำ จ. เพชรบุรี โครงการจัดพัฒนาที่ดินทุ่งลุยลาย อันเนื่องมาจากพระราชดำริ อ.คอนสาร จ.ชัยภูมิ และโครงการจัดพัฒนาที่ดินตามพระราชประสงค์หนองพลับ อ.หัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์

          โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริเหล่านี้ มีวัตถุประสงค์ที่สำคัญ คือ 1) เพื่อนำทรัพยากรธรรมชาติออกมาใช้ในด้านการผลิตให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด  2) เพื่อส่งเสริมให้ราษฎรมีที่ดินสำหรับประกอบอาชีพและอยู่อาศัย 3) เพื่อส่งเสริมให้ราษฎรรู้จักพึ่งตนเอง และช่วยเหลือส่วนรวม ทั้งทางเศรษฐกิจและสังคม บางโครงการมีวัตถุประสงค์เฉพาะกิจในการบรรเทาความเดือดร้อนในเรื่องที่ทำกินของราษฎรที่ถูกอพยพออกจากพื้นที่

 

          2. การอนุรักษ์และฟื้นฟูดิน


          พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงสนพระทัยและให้ความสำคัญมากขึ้นในงานอนุรักษ์และฟื้นฟูดิน ที่มีสภาพธรรมชาติและปัญหาที่แตกต่างกันไปในแต่ละภูมิภาค โดยเขียนไว้ในเอกสารพระราชทานว่า “ดินที่เหมาะสมสำหรับการเกษตรกรรม ต้องมีคุณสมบัติต่างๆ ดังนี้ มีแร่ธาตุที่เรียกว่า ปุ๋ย ส่วนประกอบสำคัญคือ 1) N (nitrogen) ในรูป nitrate   2) P (phosphorus) ในรูป phosphate 3) K (potassium) และแร่ธาตุ อื่นๆ O H Mg Fe มีระดับ เปรี้ยว ด่าง ใกล้เป็นกลาง (pH 7) มีความเค็มต่ำ มีจุลินทรีย์  มีความชื้นพอเหมาะ (ไม่แห้ง ไม่แฉะ) มีความโปร่งพอเหมาะ (ไม่แข็ง)”  จึงมีพระราชดำริในการแก้ไขปัญหาที่ดินที่เน้นเฉพาะเรื่องมากขึ้น เช่น การศึกษาวิจัยเพื่อแก้ไขปัญหาดินเค็ม ดินเปรี้ยว ดินทราย ในภาคกลางและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ปัญหาดินพรุในภาคใต้ และที่ดินชายฝั่งทะเล รวมถึงการแก้ไขปรับปรุงและฟื้นฟูดินที่เสื่อมโทรมพังทลายจากการชะล้างหน้าดิน ตลอดจนการทำแปลงสาธิตการพัฒนาที่ดินเพื่อการเกษตรกรรมในพื้นที่ที่มีปัญหาดินเสื่อมโทรม เพื่อให้พื้นที่ที่มีปัญหาเรื่องดินจากหลายๆ สาเหตุ กลับมาใช้ประโยชน์ทางการเกษตรได้อีก


          ดังนั้น โครงการต่างๆ ในระยะหลัง จึงเป็นการรวบรวมความรู้ทั้งทางทฤษฎีและปฏิบัติจากหลากหลายสาขา มาใช้ร่วมกันในการจัดการทรัพยากรธรรมชาติ และที่ปรากฏให้เห็นได้อย่างชัดเจนก็คือ แนวคิดและตัวอย่างการจัดการทรัพยากรดินในศูนย์ศึกษาการพัฒนาอันเนื่องมาจากพระราชดำริ 6 แห่ง ที่ทรงมีพระราชดำริให้จัดตั้งขึ้นเพื่อทำการศึกษาค้นคว้าเกี่ยวกับการอนุรักษ์ดินและน้ำ เป็นตัวอย่างในการป้องกันการชะล้างพังทลายของดิน การขยายพันธุ์พืชเพื่ออนุรักษ์ดินและบำรุงดิน และสนับสนุนให้เกษตรกรเรียนรู้เข้าใจวิธีการอนุรักษ์ดินและน้ำ การปรับปรุงบำรุงดิน  สามารถนำไปปฏิบัติได้เอง ทรงมีพระราชดำริว่า “การปรับปรุงที่ดินนั้นต้องอนุรักษ์ผิวดิน ซึ่งมีความสมบูรณ์ไว้ไม่ให้ไถ หรือลอกหน้าดินทิ้งไป สงวนไม้ยืนต้น ที่ยังเหลืออยู่ เพื่อที่จะรักษาความชุ่มชื่นของผืนดิน”


(ที่มา :http://www.pidthong.org/knowledge.php?id=61&pagename=knowledge-land&menu_id=1#.XAdtuoczaM8)

ภาพประกอบ